ในหลายขั้นตอนของกระบวนการผลิตมักก่อให้เกิดมลพิษที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ ทั้งจากฝุ่น ควัน ไอและละอองน้ำมัน จากการขึ้นรูปกราไฟต์ การขัดผิวชิ้นงาน การกัดหรือเจาะด้วยการฉีดน้ำหล่อเย็นด้วยแรงดันสูง การตัดเฉือนโลหะที่ใช้น้ำมันหล่อลื่น การกัดขึ้นรูปโลหะด้วยไฟฟ้า

 

กระบวนการเหล่านี้จะสร้างฝุ่นผงโลหะหนักที่มีขนาดเล็กมากในระดับ Grain Size จากขนาดไม่กี่ไมครอนจนถึง 20 ไมครอน รวมไปถึงไอน้ำมันที่บางครั้งมีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งมีอันตรายต่อร่างกายมนุษย์เป็นอย่างมาก และสามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายเราได้ หากได้รับมลพิษเหล่านี้สะสมไปเรื่อย ๆ เป็นเวลานานแล้ว ร่างกายของเราจะไม่อาจขจัดสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ด้วยตัวเอง ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพแบบเรื้อรังตามมาได้ โดยเฉพาะอันตรายจากละอองน้ำมันที่มีคุณสมบัติสามารถจับตัวกับเชื้อโรคและแบคทีเรียได้ ซึ่งมีข้อบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ว่าละอองน้ำมันอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้

 

อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่ชัดว่าภัยร้ายจากฝุ่นผง ควัน ไอและละอองน้ำมันในโรงงานผลิตชิ้นส่วนโลหะ จะทำให้เกิดโรคผิวหนังและโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่น ปวดบวม ผิวหนังอักเสบ หอบหืด ไปจนถึงก้อนเนื้องอกในปอด

 

นอกจากปัญหาด้านสุขภาพแล้ว มลพิษทางอากาศที่ฟุ้งกระจายอยู่ในโรงงานยังสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ เช่นปัญหาเรื่องกลิ่นและความสะอาด ทำให้งานในสภาพแวดล้อมการผลิตนั้นค่อนข้างจะหาพนักงานที่ต้องการทำงานได้ลำบากกว่าตำแหน่งงานอื่น ๆ และนอกจากนี้ ในบางผลิตภัณฑ์อย่างสินค้าหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์นั้น ฝุ่นผงและไอน้ำมันยังสร้างความเสียหายต่อสินค้าได้อีกด้วย จึงมีการสร้างห้องคลีนรูมสำหรับบางขั้นตอนในกระบวนการผลิต ดังนั้น โรงงานสมัยใหม่จึงให้ความสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมในสายการผลิตให้สะอาดและสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ซึ่งการกำจัดมลพิษทางอากาศนั้นมีหลายเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้

 

รู้จักกับ 5 ประเภทของเครื่องกรองฝุ่น กำจัดฝุ่น กรองไอน้ำมันในโรงงาน

1. Inertial separators แยกมลพิษออกจากอากาศโดยใช้แรงต่าง ๆ เช่น แรงเหวี่ยง แรงโน้มถ่วง และแรงเฉื่อย ซึ่งกลไกการทำงานรูปแบบนี้มักถูกนำไปใช้ในเครื่องกำจัดฝุ่นสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นหลัก แต่ก็มีการนำไปใช้ในร่วมกับเครื่องกำจัดฝุ่นประเภทอื่น ๆ ด้วย

2. Fabric filters แยกมลพิษออกจากอากาศด้วยตัวกรองซึ่งมักทำจากผ้า หรือเส้นใยสังเคราะห์ มีจุดเด่นคือสามารถกรองฝุ่นได้ละเอียด ประหยัดพลังงาน แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนฟิลเตอร์หลังใช้งานได้ระยะเวลาหนึ่ง 

3. Wet scrubbers ดักจับอนุภาคมลพิษด้วยการปล่อยให้อากาศไหลของเหลว หรือพ่นละอองน้ำ โดยอนุภาคของของเหลวจะเข้าไปจับตัวกับละอองฝุ่น ทำให้มีประสิทธิภาพในการดักจับสูง

4. Unit collectors เครื่องกรองฝุ่นขนาดเล็ก ประกอบด้วยพัดลมและตัวกรองฝุ่น มักมีขนาดเล็กขนย้ายง่าย ต้นทุนต่ำ เหมาะสำหรับการใช้งานในพื้นที่จำกัด แต่มีความจุต่ำ และต้องบำรุงรักษาบ่อยครั้ง

5. Electrostatic precipitators ใช้กระแสไฟฟ้าสถิตแยกอนุภาคละอองฝุ่นออกจากอากาศ มีหลักการทำงานแบบเดียวกับเครื่องฟอกอากาศในบ้าน

 

นอกจากนี้ หากต้องการการกำจัดละอองน้ำมันโดยเฉพาะ ยังมีวิธีการแบบทั่วไปที่ติดตั้งเครื่องกำจัดละอองน้ำมันเข้ากับเครื่องจักรที่ผลิตชิ้นงานโลหะโดยตรง โดยดูดอากาศที่มีละอองน้ำออกจากตัวเครื่องและลำเลียงผ่านท่อไปยังเครื่องกรอง ส่วนในกรณีเครื่องจักรแบบเปิดก็สามารถดักจับไอหรือละอองน้ำมันด้วยเครื่องกรองได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการติดตั้งเครื่องกรองละอองน้ำมัน หรือ Oil Mist Collector ตรงบริเวณด้านบนของเครื่องจักร Manuhub ให้ความสนใจและความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานเสมอ

 

 

ที่มา : M Report