ญี่ปุ่นคืบหน้าผลักดันแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า จัดตั้งสมาคมแบตเตอรี่สำหรับซัพพลายเชน (Battery Association for Supply Chain: BASC)

Mr. Isao Abe ประธานสมาคม BASC และผู้บริหาร Sumitomo Metal Mining เปิดเผยถึงการก่อตั้งสมาคมแบตเตอรี่ได้เริ่มวางแผนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากสมาชิก 5 บริษัท และมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนามาตรฐานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเท่านั้น 

 

ภารกิจหลักของสมาคม BASC คือ 1. การกำหนดมาตรฐานด้านแบตเตอรี่ และ 2.การเสนอร่างนโยบายด้านแบตเตอรี่ให้กับภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการมีส่วนร่วมกำหนดมาตรฐาน โดยเฉพาะหลังจากที่จีนได้ยื่นเสนอมาตรฐานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนไปแล้ว ขณะที่ฝั่งอียูเพิ่มเงินสนับสนุนการลงทุนซัพพลายเชนแบตเตอรี่ เนื่องจากหากมาตรฐานสากลของแบตเตอรี่เอียงไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็จะทำให้ประเทศอื่น ๆ เสียเปรียบเป็นอย่างมาก และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตจะไม่จำกัดแต่เพียงแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน

 

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังมีแผนจัดตั้งกองทุนสนับสนุนซัพพลายเชนด้านแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบอย่างลิเธียม โคบอลต์ กราไฟต์ การวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่สอดคล้องไปกับสภาพเศรษฐกิจอีกด้วย

 

เมื่อการพัฒนาแบตเตอรี่เปรียบได้กับอวัยวะสำคัญในร่างกาย

สำหรับค่ายรถแล้วแบตเตอรี่เป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการแข่งขันด้านรถยนต์ไฟฟ้า ยกตัวอย่างเช่นโตโยต้า ซึ่งได้ร่วมลงทุนพัฒนาแบตเตอรี่กับทั้ง Panasonic, CATL, และ BYD โดยโตโยต้าตั้งเป้าว่า ในปี 2030 บริษัทจะทำยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าได้มากกว่าปัจจุบันถึง 3 เท่า อย่างไรก็ตาม หากมียอดขายเพิ่มขึ้นตามนี้จริง จะทำให้ความต้องการแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 30 เท่า ซึ่ง Mr. Masamichi Okada เจ้าหน้าที่บริหารบริษัทโตโยต้าแสดงความเห็นว่า นอกจากการร่วมมือกับบริษัทอื่นแล้ว ค่ายรถจำเป็นต้องลดลีดไทม์ให้ได้มากที่สุด และเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้มากที่สุดไปพร้อมกัน และค่ายใดที่พัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเองได้ก็จะมีข้อได้เปรียบเป็นอย่างมาก ซึ่งสิ่งที่โตโยต้าพูดก็เป็นความจริง เห็นได้จากค่ายรถอื่น ๆ เช่น

  • เทสล่า (Tesla) ที่ผลิตแบตเตอรี่ด้วยตัวเองคู่ไปกับการร่วมมือกับบริษัทอื่น ๆ
  • เจเนรัลมอเตอร์ (General Motors) ที่มีแผนก่อตั้งโรงงานร่วมกับ LG Chem
  • โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) ที่มีแผนเปิดโรงงานเพิ่ม 6 แห่งในยุโรป

 

ผู้ผลิตวัสดุ เร่งเพิ่มกำลังการผลิต

สมาคมฯ เปิดเผยว่า ความต้องการแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ส่งผลแค่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ แต่ทำให้ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ และวัสดุอื่น ๆ ได้ผลประโยชน์ตามไปด้วย หลายบริษัทจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิต เช่น Asahi Kasei, Mitsubishi Chemical, Sumitomo Chemical, DOWA Holdings, JX Nippon Mining & Metals, และอื่น ๆ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ความต้องการมากขึ้น เช่น Wet separators, Heat resistant separator, Electrolyte, ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่ในอนาคต

 

ทางสมาคม BASC แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า แนวโน้มมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้นอย่างเร่งด่วนเช่นนี้ จะไม่กระทบเพียงอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้น แต่จะทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานอีกด้วย และแน่นอนว่าในอนาคต การแข่งขันด้านเทคโนโลยีและซัพพลายเชนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจะรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน

 

ท้ายนี้ Manuhub หวังว่าการรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการชั้นนำของญี่ปุ่น อาจมีแนวโน้มต่อผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตอย่างแน่นอน ด้วยกระแสที่กำลังเป็นที่นิยมของเหล่าผู้บริโภค และเป็นทางเลือกใหม่ในอนาคตอันใกล้

.

.

.

ที่มา: M Report / Nikkan Kogyo Shimbun