ไม่นานมานี้ ปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ได้กลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง และกำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ไม่ส่งต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างรุนแรง ทำโรงงานประกอบยานยนต์หลายแห่งจำเป็นต้องยุติการผลิตชั่วคราว 

 

Semiconductor Industry Association (SIA) รายงานว่า ปัจจุบันตลาดเซมิคอนดักเตอร์กำลังอยู่ในขาขึ้น และมีความต้องการชิปเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งโดยทั่วไปผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ มักจะรักษาระดับการผลิตไว้ที่ 80% อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ความต้องการของตลาดที่พุ่งสูง ทำให้ผู้ผลิตหลายรายต้องยกระดับการผลิตขึ้นมาอยู่ที่ 90-100% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2021 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการชิปในหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก

 

โดยทั่วไปแล้ว การเพิ่มกำลังผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้องใช้เวลามาก เนื่องจากชิปเซมิคอนดักเตอร์เป็นผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กที่มีความซับซ้อนสูง ต้องการทักษะ ความแม่นยำ และเครื่องจักรกลเฉพาะทางในการผลิต อีกทั้งจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล และในการผลิตชิปเวเฟอร์เซมิคอนดักเตอร์บางประเภทจำเป็นต้องผ่านกระบวนการมากถึง 1,400 ขั้นตอน ซึ่งแต่ละขั้นก็ล้วนต้องการเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เหมาะสมทั้งสิ้น ทำให้การเพิ่มกำลังผลิตเซมิคอนดักเตอร์เป็นเรื่องลำบากและใช้เวลาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งโดยทั่วไปใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 12 สัปดาห์

 

นอกจากการเพิ่มกำลังผลิตแล้ว กระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เองก็ใช้เวลาเช่นเดียวกัน ซึ่งโดยทั่วไปมี Cycle Time เฉลี่ยอยู่ที่ 12 สัปดาห์ และมากถึง 14 - 20 สัปดาห์สำหรับชิปประสิทธิภาพสูง ในขณะที่การผลิตชิปแบบ Custom ตามความต้องการของลูกค้าอาจใช้เวลามากถึง 26 สัปดาห์ด้วยกัน

 

และเมื่อการผลิตแล้วเสร็จ ชิ้นงานที่ได้ยังต้องผ่านกระบวนการอีกขั้นตอนหนึ่งซึ่งเรียกว่า Assembly, Test, and Package (ATP) เสียก่อน จึงจะสามารถส่งชิปให้กับลูกค้าได้ ซึ่งกระบวนการ ATP อาจใช้เวลามากถึง 6 สัปดาห์จึงจะแล้วเสร็จ ทำให้ Lead Time ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์นับตั้งแต่ได้รับคำสั่งซื้อ ไปจนถึงการจัดส่งใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ราว 26 สัปดาห์ด้วยกัน

 

ซึ่งปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการเร่งเพิ่มกำลังผลิต เพื่อตอบสนองต่อวิกฤตขาดแคลนชิปในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากการระบาดของโควิดที่กระตุ้นยอดขายคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่ปี 2020 ทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าทั้งหมด และจำเป็นต้องเลือกว่าจะจัดส่งชิปให้ลูกค้ารายใดก่อน

 

แน่นอนว่า ในระยะยาว อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งยานยนต์ ไอที และอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลำพังการเพิ่มกำลังผลิตเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จึงกำลังร่วมมือกันเพื่อหาทางออกและวางแผนรองรับตลาดในอนาคตอีกด้วย

 

 

ที่มา : M Report